#พระราชดำรัส #สุดท้าย ของ #รัชกาลที่5 #คำบอกเล่า #มหาดเล็กปลายแท่นบรรทม ถวายงานจน #นาทีสุดท้าย
จากวันแรกที่ทรงมีพระอาการประชวร 16 ตุลาคม 2453 – 23 ตุลาคม 2453 เวลา 00.45 น. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต เป็นวันแห่งความวิปโยคของชาวสยามทั้งแผ่นดิน ทรงครองราชย์ 42 ปี
ลำดับพระอาการ โดย ไกรฤกษ์ นานา และ คำบอกเล่าของมหาดเล็กอยู่งานปลายพระแท่นบรรทม นายจ่ายวด นพ ไกรฤกษ์

คำบอกเล่า โดย นายจ่ายวด (นพ ไกรฤกษ์) หรือ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ จางวางมหาดเล็กในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาดเล็กอยู่งานปลายพระแท่นบรรทมในช่วงวันใกล้วันสวรรคต จนถึงนาทีสุดท้าย
“วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม เวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่ง 3 คน ขึ้นไปเฝ้าตรวจอาการ ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยตามเคย เมื่อกลับลงมาเห็นกิริยาท่าทางของหมอและเจ้านายไม่สู้ดี ได้ความว่าพระอาการหนักมาก พระบังคนเบาที่คาดว่าจะมีก็ไม่มี พิษของพระบังคนเบาซึมไปตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์ จึงทำให้เป็นพิษเซื่องซึม บรรทมหลับอยู่เสมอ หมอตั้งพระโอสถถวายเร่งให้มีพระบังคนเบาแรงขึ้นทุกที พวกหมอฝรั่งประชุมกันเขียนรายงานพระอาการยื่่นต่อเจ้านาย เสนาบดี ว่าพระอาการมากเหลือกำลังของหมอที่จะถวายการรักษาแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานารถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จมาแต่เช้าได้ทอดพระเนตรรายงานพระอาการที่หมอทำไว้ ทรงปรึกษาหารือเห็นพร้อมกันว่าควรให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์มาเฝ้าตรวจพระอาการดูด้วย ข้าพเจ้าจึงให้นายฉัน หุ้มแพร (ทิตย์ ณ สงขลา) รีบเอารถยนต์ไปรับมาทันที พระองค์เจ้าสายฯ ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวน้ำพระเนตรไหล แต่ไม่ตรัสว่าอะไร พระองค์เจ้าสายฯ กลับลงมา ยืนยันว่าพระอาการยังไม่เป็นอะไร เชื่อว่ามีบรรทมหลับเซื่องซึมอยู่นั้นเป็นตัวฤทธิ์พระโอสถต่างๆ พอฤทธิ์พระโอสถหมดแล้วก็คงจะทรงสบายขึ้น เพราะพระชีพจรก็ยังเต้นเป็นปรกติดี พระองค์เจ้าสายฯ กลับไปนำพระโอสถมาตั้งถวายแก้ทางพระศอแห้ง ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ตรัสว่า ‘หมอมาหรือ’ ได้เท่านั้นแล้วก็ไม่ได้รับสั่งอะไรอีกต่อไป
พระอาการตั้งแต่เช้าไปจนเย็น ไม่มีพระบังคนหนักและเบาเลย พระหฤทัยอ่อนลงมา ยังบรรทมหลับเซื่องซึมอยู่เสมอ เวลาย่ำค่ำสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่งขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปด้วย และเห็นหายพระทัยดังยาวๆ และหายพระทัยทางพระโอษฐ์ พ่นแรงๆ จนเห็นพระมัสสุได้แต่ไกล สังเกตดูพระเนตรไม่จับใครเสียแล้ว ลืมพระเนตรคว้างอยู่อย่างนั้นเอง แต่พระกรรณยังได้ยิน สมเด็จพระราชินีนาถกราบทูลว่าเสวยน้ำ ยังทรงพยักพระพักตร์รับได้ และกราบทูลว่าพระโอสถแก้พระศอแห้งพระองค์เจ้าสาย ก็ยังรับสั่งว่า “ฮือ” แล้วยกพระหัตถ์ขวาและซ้ายที่สั่นขึ้นเช็ดน้ำพระเนตร คล้ายทรงพระกันแสง พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีซับเช็ดพระเนตรด้วยผ้าซับพระพักตร์ชุบน้ำถวาย หมอฉีดพระโอสถถวายช่วยบำรุงพระหฤทัยให้แรงขึ้น
ตั้งแต่เวลานี้ต่อไป หมอฝรั่งนั่งประจำคอยจับพระชีพจร ตรวจพระอาการผลัดเปลี่ยนกันประจำอยู่ที่พระองค์ การหายพระทัยค่อยๆเบาลงทุกที พระอาการกระวนกระวายอย่างหนึ่งอย่างใดไม่มีเลย คงบรรทมหลับอยู่เสมอ เจ้านายจะขึ้นไปเฝ้าอีกครั้ง ก็พอหมอรีบลงมาทูลว่า เสด็จสวรรคตเสียแล้วด้วยพระอาการสงบ เมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที
สมเด็ตพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอ พร้อมกันเสด็จขึ้นไปเฝ้ากราบถวายบังคมด้วยความเศร้า่โศกอาลัย ทรงกันแสงคร่ำครวญสอึกสอื้นทั่วกัน ข้าพเจ้าก็อยู่ที่นั่นด้วย กราบถวายบังคมมีความเศร้าโศกอาลัยแสนสาหัส ร่ำร้องมิได้หยุดหย่อยเลย ในที่พระบรรทมและตามเฉลียงเต็มไปด้วยฝ่ายในและฝ่ายหน้า ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ระงมเซ็งแซ่และทุ่มทอดกายทั่วไป ประดุจต้นไม้ใหญ่ที่ถูกลมพายุใหญ่พัดต้นและกิ่งก้านหักล้มราบไปฉันใด บรรดาฝ่ายในและฝ่ายหน้าทั้งหมดล้มกลิ้งเป็นลมไปตามกันฉันนั้น ด้วยความเศร้าโศกาดูรเป็นอย่างล้นเหลือที่จะรำพันให้สิ่นสุดได้”
ที่มา : มติชน ออนไลน์ (นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 29 เล่ม 1 พฤศจิกายน 2550)
ลำดับพระอาการ โดย ไกรฤกษ์ นานา นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักเขียน ในปัจจุบัน (ที่มา:นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 31 ฉบับที่ 12 ตุลาคม 2553)
ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่ทรงมีพระอาการประชวรว่า ภายหลังทรงขับรถไฟฟ้าออกไปประพาสฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ทุ่งพญาไท แต่มิได้เสด็จลงจากรถพระที่นั่ง รับสั่งว่า “ท้องไม่ค่อยสบายจะรีบกลับ” ต่อมา ระหว่าง 17-19 ตุลาคม มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลประจำปีถวายรัชกาลที่ 4 ในพระบรมมหาราชวัง แต่เนื่องจากพระนาภี (ท้อง) ยังไม่ปกติ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมฯ เสด็จแทน วันที่ 20 ตุลาคม พระอาการกำเริบหนักขึ้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถมีรับสั่งให้ตามหมอฝรั่ง มีนายแพทย์เบอร์เมอร์ นายแพทย์ไรเตอร์ และนายแพทย์ปัวซ์ เข้ามารักษา และอยู่เฝ้าอาการประจำ วันที่ 21 ตุลาคม เวลาย่ำรุ่งบรรทมตื่น ตรัสว่าพระศอแห้ง แล้วเสวยพระสาธุรสเย็น รับสั่งว่าอยากจะเสวยอะไรให้ชุ่มพระศอ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ถวายน้ำเงาะคั้น 1 ลูก พอเสวยได้ครู่เดียวก็ทรงพระอาเจียนออกมาหมด ในวันนี้ทรงพระราชดำรัสเพียง 2 ประโยคว่า “การเจ็บครั้งนี้จะรักษากันอย่างไร ก็ให้รักษาเถิด” และ “การรักษาเดี๋ยวนี้เป็นอย่างใหม่เสียแล้ว”
ตอนค่ำวันนี้มีพระบังคนเบา (ปัสสาวะ) ประมาณ 1 ช้อนชา และเป็น “ครั้งสุดท้าย” วันที่ 22 ตุลาคม พิษของพระบังคนเบาซึมไปตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์ ทำให้มีพระอาการเซื่องซึมบรรทมหลับอยู่เสมอ วันนี้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ แพทย์แผนไทย มาเข้าเฝ้าเพื่อตรวจพระอาการ ทรงพระราชดำรัสเป็น “ครั้งสุดท้าย” ว่า “หมอมาหรือ” แล้วก็มิได้รับสั่งอะไรอีกต่อไป เย็นวันนี้พระหทัยเต้นอ่อนลง ลืมพระเนตรได้ แต่หายพระทัยทางพระโอษฐ์ พ่นแรงๆ จนเห็นพระมัสสุไหวได้แต่ไกล สมเด็จพระบรมราชินีนาถกราบทูลว่า เสวยน้ำ ยังทรงพยักพระพักตร์ได้ แล้วยกพระหัตถ์ขวาและซ้ายที่สั่นขึ้นเช็ดน้ำพระเนตรคล้ายทรงพระกันแสง แบบน้อยพระทัยพระองค์เองว่าทำไมหมดเรี่ยวแรง หลัง 2 ยามเพียง 45 นาทีก็เสด็จสวรรคตในลักษณะที่ยังบรรทมหลับอยู่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะ (ไต) พิการ บนชั้นที่ 3 พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สิริรวมพระชนมพรรษา 57 พรรษา
พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) เป็นบุตรของ พระมงคลรัตน์ราชมนตรี (ช่วง ไกรฤกษ์) เป็นลำดับที่ 8 ในพี่น้องร่วมบิดา 10 คน ได้แก่ คุณสงวน ภรรยาพระราชประสิทธิ์,คุณเสงี่ยม ภรรยาหลวงนายเสน่ห์รักษา,คุณถนอม,คุณชื่น,คุณหญิงจันทร์ ภรรยาพระยาพิพิธโภไคยสวรรย์ (เชฐ หังสสูต),พระยาราชสัมภารากร (ชม ไกรฤกษ์),เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 5,คุณใย และ พระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์) (ที่มา:วิกิพีเดีย)
รับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นจางวางมหาดเล็กในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยตามเสด็จ คราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ซึ่งไม่มีฝ่ายในโดยเสด็จไปในกระบวน พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ยังได้บันทึกไว้อีกว่า “ได้ทรงมอบหน้าที่ให้นายจ่ายวดเป็นพนักงานห้องพระบรรทม และการเบ็ดเตล็ดทั่วไปในพระองค์ แม้เวลาเสด็จเข้าที่พระบรรทมก็โปรดให้ถวายอยู่งานนวดบ้าง ถวายอยู่งานทุบบ้างและถวายอยู่งานพัดบ้างจนกว่าจะบรรทมหลับ จึงจะได้ลงจากพระแท่นที่บรรทมและปูที่นอน ๆ อยู่ปลายพระแท่นนั้น” และต่อมาเมื่อครั้งเสด็จขึ้นที่เกาะพะงันสรงน้ำตกธารประพาสอีกครั้งหนึ่ง ในคราวเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันตกในระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ก็ “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายจ่ายวดสนองพระเดชพระคุณฟอกสบู่ถูพระองค์ และคอยถวายเครื่องพระภูษาเครื่องพระสำอางที่ธารนั้น” (ที่มา : พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์). บุรุษรัตน หน้า 17)
ในปี พ.ศ ๒๔๔๑ จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรข้ามที่หลวงนายเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี หัวหมื่นมหาดเล็กเวรศักดิ์ ได้รับมอบหมายให้จัดการรับรองเจ้าต่างประเทศเป็นครั้งแรกที่วังสราญรมย์ คือ เจ้าชายวิตโตริโอ เอมานูเอเล เดอซาโรยา เคานต์ออฟตุริน พระเจ้าหลานเธอแห่งกรุงอิตาลี ซึ่งเสด็จเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จากนั้นก็ได้ทรงโปรดให้จัดการรับรองเจ้าต่างประเทศอื่นๆ อีกหลายราย จนกระทั่งถึงปี พ.ศ ๒๔๔๖ ตรงกับงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา และพระราชพิธีทวีธาภิเษก (ภาค ๒) สมโภชสิริราชสมบัติ จึงได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ จางวางมหาดเล็ก (ที่มา : ชาวกรุง ปีที่ ๑๗ เล่มที่ ๔ มกราคม ๒๕๑๑, สอ สัจจวาที)