เปิดศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ฯ-จัดนิทรรศการในหลวง แสดงพระอัจฉริยภาพด้านน้ำกระฉ่อนทั่วโลก
กรมชลประทานเตรียมเปิดศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ฯ และจัดนิทรรศการแสดงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำชลประทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทั่วโลกได้รับรู้ ในงานการประชุมชลประทานโลก
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การประชุมชลประทาน โลกครั้งที่ 2 และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศในครั้งที่ 67 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2559 ณ จ.เชียงใหม่นั้น กระทรวงเกษตรฯโ ดยกรมชลประทานจะใช้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เป็นสถานที่ต้อนรับและดูงานของผู้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้มีรัฐมนตรีจาก 13 ประเทศตอบรับแล้ว คือ จีน อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เนปาล ปากีสถาน รัสเซีย แอฟริกาใต้ ซูดาน ยูเครน อุซเบกิสถาน ซิมบับเว และยังอยู่ระหว่างรอตอบรับอีกกว่า 10 ประเทศ
ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พลิกผืนดินที่แห้งแล้งกว่า 8,500 ไร่ให้เป็นผืนดินที่อุดมบูรณ์ จนกลายเป็นศูนย์การศึกษาที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ แล้วนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผล ทั้งการพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ การพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนการส่งเสริมการประกอบอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพด้านการเกษตร การประมง ปศุสัตว์ รวมทั้งด้านการเกษตรอุตสาหกรรม ดังมีพระราชดำริว่า ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” หรืออีกนัยหนึ่งเป็น “สรุปผลของการพัฒนา” ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้
นอกจากนี้ภายในสถานีที่จัดการประชุม ยังจะมีการจัดนิทรรศการนำเสนอแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำชลประทานตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกได้เยี่ยมชม และรับทำให้ได้รับทราบถึงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ในวันที่ 7-8 พ.ย. 2559 อีกด้วย
“ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญของการจัดประชุมครั้งนี้มาก เพราะจะทำให้ทั่วโลกได้รับทราบความก้าวหน้าของการชลประทานของไทย และมีผลทางอ้อมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของประทศอีกด้วย ซึ่งขณะนี้มีรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูง เอกอัครราชทูต ผู้บริหารจากสถาบันการศึกษา นักวิชาการด้านน้ำและชลประทาน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตอบรับเข้าร่วมประชุมแล้ว 60 ประเทศ จำนวนกว่า 1,200 คน” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวในตอนท้าย