“ศาลาเฉลิมกรุง…สืบสานตำนานเพลง” ครั้งที่ 16 ปี 2559
ประกวดร้องเพลงชิงถ้วยพระราชทานฯ รอบชิงชนะเลิศ “ศาลาเฉลิมกรุง…สืบสานตำนานเพลง” ครั้งที่ 16 ปี 2559 วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2560 เวลา 14.00 น. ณ ศาลาเฉลิมกรุง บรมครูเพลงรวมใจ…ค้นหาทายาทสืบสานเพลงไทย
ศาลาเฉลิมกรุงจัดกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมไทยในการประกวดร้องเพลงไทยประทับใจในอดีต ภายใต้ โครงการ “ศาลาเฉลิมกรุง…สืบสานตำนานเพลง” ครั้งที่ 16 ปี 2560 ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โดยได้รับเกียรติจากบรมครูเพลงศิลปินแห่งชาติ และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย อาทิ สุเทพ วงศ์กำแหง (ศิลปินแห่งชาติ), ชาลี อินทรวิจิตร (ศิลปินแห่งชาติ), จินตนา สุขสถิตย์ (ศิลปินแห่งชาติ), มนัส ปิติสานต์ (ศิลปินแห่งชาติ), สันทัด ตัณฑนันทน์, จรรมนง แสงวิเชียร, วิรัช อยู่ถาวร, เยาวลักษณ์ แพ่งสภา, สุคนธ์ พรพิรุณ, นคร วีระประวัติ, นันทวัน เมฆใหญ่ สุวรรณปิยะศิริ, สมทรง สัจจาภิมุข, วินัย พันธุรักษ์, จิรวุฒิ กาญจนะผลิน, โฉมฉาย อรุณฉาน, ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล, พจน์ ใจชาญสุขกิจ, ปิ่นศิริ ศิริปิ่น, รุ่งโรจน์ ดุลลาพันธ์ และอีกมากมายหลายท่านที่ช่วยส่งเสริมการจัดกิจกรรมมาจนถึงรอบชิงชนะเลิศนี้ นอกจากถ้วยรางวัลพระราชทานฯ เงินสดและของรางวัลกว่า 100,000 บาท ผู้ชนะการประกวดฯ จะได้ร่วมร้องเพลงบนเวทีศาลาเฉลิมกรุงในรายการศาลาเพลง-ศาลาเฉลิมกรุง ร่วมกับนักร้องและศิลปินคุณภาพชื่อดังมากมาย และก้าวขึ้นเป็นนักร้องอาชีพที่มีคุณภาพต่อไป
การประกวดร้องเพลงได้ดำเนินการมาจนถึงรอบชิงชนะเลิศได้เยาวชนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถในด้านการร้องเพลงเข้าสู่รอบสุดท้าย จำนวน 14 คน ประเภทหญิง 7 คนและประเภทชาย 7 คน วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2560 เวลา 14.00 น. ณ ศาลาเฉลิมกรุง ขอเชิญชมลีลาและการขับร้องเพลงจากผู้เข้าประกวดซึ่งเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพในด้านการร้องเพลงไทย ในบทเพลงคุณภาพมากมาย อาทิ บุเรงนองพ่ายรัก, พรานเบ็ด, คน, สามหัวใจ, สวรรค์มืด, ยามชัง, น้ำตาดารา, ม่านไทรย้อย, ยิ่งกว่าการฆ่า, ตะแลงแทงแกงใจ, รักต้องห้าม, ไม่อยากให้โลกนี้มีความรัก, ดาว, คนึงหา ฯลฯ บรรเลงดนตรีโดย วงเฉลิมราชย์ พิธีกรโดย เศรษฐา ศิระฉายา (ศิลปินแห่งชาติ) ร่วมส่งแรงใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่มาเป็นผู้สืบสานบทเพลงไทย บัตรราคา 300 บาท ทุกที่นั่ง สำรองที่นั่งได้วันนี้ที่ศาลาเฉลิมกรุง โทร. 0-2225-8757-8, 0-2623-8148-9 และไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขาโทร. 0-2262-3456 www.thaiticketmajor.com
มูลนิธิ ณภาฯ ในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
มูลนิธิณภาฯในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา หรือ “ณภาฯ” ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นตัวกลางในการแสวงหาโอกาสและช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งสร้างความตระหนักแก่สังคมให้เห็นถึงศักยภาพของกลุ่มคนเหล่านี้
ณภาฯ ให้ความสำคัญกับการให้ “โอกาส” เพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นผู้ให้โอกาสได้ไม่สิ้นสุด ดังจะเห็นได้จากนัยสำคัญของตราสัญลักษณ์ประจำองค์กร คือ สัญลักษณ์คล้าย เครื่องหมายอินฟินิตี้ ที่แสดงถึงการให้โอกาสที่ไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะเดียวกัน คำว่า ณภาฯ ก็สามารถสื่อถึงนัยสำคัญได้สองประการ ประการแรก คือ ณภาฯ ที่เป็นคำพ้องเสียงกับ คำว่า นภา อันหมายถึงท้องฟ้า แสดงให้เห็นถึงความกว้างใหญ่ไพศาล เปรียบเสมือนจิตใจที่พร้อมที่จะให้อภัยและให้โอกาสเสมอ ซึ่งมีความหมายโดยนัยว่า “ที่แห่งนี้จะมองเห็นและให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีที่สิ้นสุด” สำหรับประการที่สอง เมื่อนำความหมายของคำว่า ณ (อันหมายถึง อยู่ที่นี่) และ ความหมายของคำว่า ภาฯ (อันเป็นพระนามโดยย่อของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา) มารวมกัน จึงมีความหมายโดยนัยว่า “อยู่กับพระองค์ท่าน ก้าวไปพร้อมกันกับพระองค์ท่าน ณ ที่แห่งนี้ ที่ ณภาฯ” อันแสดงให้เห็นถึงน้ำพระทัยและความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ท่านอย่างแท้จริง
ณภาฯ ต้องการให้สังคมได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการให้โอกาส ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยเริ่มต้นจากการสร้างคุณค่าในตัวเองและการยอมรับจากสังคม ณภาฯ จึงสนับสนุนให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้ฝึกฝนอาชีพ และเข้าอบรมองค์ความรู้ที่สำคัญในการใช้ชีวิตด้านต่างๆ เพื่อให้สังคมเปิดใจ ให้อภัย ให้โอกาส และยอมรับพวกเขา ผ่านผลงานและผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงศักยภาพ ความสามารถที่มีอยู่ในตัวของเขา อันจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและมองเห็นคุณค่าในตัวเขาเอง ทำให้พวกเขาเหล่านี้อยากทำความดีเพื่อสังคมต่อไป
ด้วยความตั้งใจช่วยเหลือกลุ่มนี้อย่างยั่งยืน ณภาฯ มิใช่เพียงแค่สนับสนุนด้านการจัดฝึกอบรมวิชาชีพ และทักษะชีวิตในด้านต่างๆ เท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้พวกเขามีรายได้ ผ่านการทำงานในด้านต่างๆ ตามทักษะที่ถนัด รวมทั้งผ่านการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากฝีมือของตนเอง อันจะส่งผลให้พวกเขาสามารถเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวได้ รวมทั้งยังเป็นที่ต้องการของสังคมและตลาดแรงงานต่อไป