ทราบหรือไม่ นสพ.อเมริกา เคยตีพิมพ์ ความว่า #ในหลวง ทรง #แซกโซโฟนทองคำ และ #ขับรถซิ่ง
ด้วยพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ท่านทรงมีรายชื่อเป็นหนึ่งในนักดนตรีในหนังสือไดเร็คทอรี่ของ “สหพันธ์นักดนตรีอเมริกัน” แห่งสหรัฐอเมริกา (American Federation of Musicians) และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตร และสมาชิกกิตติมศักดิ์ลำดับที่ ๒๓ จากสถาบันการดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา (ปัจจุบันเปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะการแสดง) ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยมีพระบรมนามาภิไธย “ภูมิพลอดุลยเดช” ปรากฏอยู่บนแผ่นจำหลักหินของสถาบัน ซึ่งถือเป็นเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่มีอายุน้อยที่สุด และเป็นชาวเอเชียแต่เพียงผู้เดียวที่ได้รับเกียรติอันสูงนี้
และเป็นที่ทราบกันดีกว่า พระองค์ทรงดนตรีได้หลายชนิด อาทิ แซกโซโฟน, เปียโน, ทรัมเป็ต, กีตาร์, ไวโอลิน, ขลุ่ย, คลาริเนต, แตร แต่ที่ทรงโปรดที่สุด คือ แซกโซโฟน เป้นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรงหัดเล่นมาตั้งแต่อายุ 13 พรรษา ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ (Wey-brecht) และ แซกโซโฟนเครื่องแรก ก็เป็นของมือสองราคา ๓๐๐ ฟรังค์สวิส ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานเงินสนับสนุน ๑๕๐ ฟรังค์ ส่วนอีก ๑๕๐ ฟรังค์ เอาเงินสโมสรออก (เป็นเงินที่พระเจ้าอยู่หัว ๒ พระองค์ทรงเข้าหุ้นกัน) พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรีร่วมกับ “เบนนี่ กู๊ดแมน” นักดนตรีแจ๊สระดับโลก ที่มหานครนิวยอร์ก ซึ่งทรงสามารถบรรเลงโต้ตอบได้อย่างครื้นเครง จนได้รับการถวายคำยกย่องในฐานะทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สที่มีอัจฉริยภาพสูง
และด้วยความโปรดปรานในเครื่องดนตรีแซกโซโฟน กับสถานะของพระองค์ ครั้งหนึ่งองค์พระบาทพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เคยถูกหนังสือพิมพ์ที่อเมริกาตีพิมพ์ ในทำนองว่าพระองค์ทรงมีแซกโซโฟนที่ทำมาจากทองคำเนื้อแท้บริสุทธิ์ ทำให้ นิตยสาร Look ได้ส่งนาย GEREON ZIMMERMAN บินจากอเมริกามาสัมภาษณ์พระองค์ ในเรื่องนี้ “แซกโซโฟนทองคำ ราคาโดยประมาณสักเท่าใด ทำที่สวิตเซอร์แลนด์ หรือที่ไหน”
เมื่อได้มานั่งอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ในวังสวนจิตรลดาแล้ว นายซิมเมอร์แมน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งว่า “หนังสือพิมพ์ที่อเมริกา พากันลงว่า เป็นกษัตริย์ที่คลั่งดนตรี…ซึ่งก็ไม่ว่าอะไร” “แต่ที่ไปลงจนเลยเถิดกันไปว่าแซกโซโฟนที่เป่าอยู่เป็นประจำนี้เป็นแซกโซโฟน ที่ทำด้วยทองคำเนื้อแท้บริสุทธิ์ อันนี้ไม่จริงเลย สมมติว่าจริงก็จะหนักมาก ยกไม่ไหวหรอก บางฉบับก็เขียนว่าชอบขับรถซิ่ง ก็เอาเถอะ ยอมให้ไม่ถือสาหรอก แต่ไม่เชื่อว่าเรื่องพวกนี้จะเป็นการสร้างสรรค์ หรือเป็นประโยชน์อันใดแก่ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา”
(ตีพิมพ์ นิตยสาร Look ในฉบับวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๑๙๖๗)
ข้อมูลจาก : “พระราชอารมณ์ขัน” – วิลาศ มณีวัต,