แผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ แผ่นแรก
แผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์สี่เพลง มีเพลงแสงเทียน เอื้อ สุนทรสนาน ร้อง, เพลงยามเย็น ชวลี ช่วงวิทย์ ร้อง, เพลงใกล้รุ่ง วินัย จุลบุษปะ ร้อง, และเพลงสายฝน เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ร้อง สองแผ่นแรกที่ออกเผยแพร่ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
คุณประไพ เสรีเรืองฤทธ์ เจ้าของห้างแผ่นเสียงนำไทย (สี่พระยา) เล่าว่าปีพ.ศ.2490 หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ เสด็จมาพบที่บริษัทพร้อมทั้งหม่อมวิภา แจ้งว่าจะขอให้ทางบริษัทบันทึกพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 9 จำนวน 4 เพลง อีกสามเดือนต่อมา จึงได้มีการดำเนินการจัดการบันทึกเสียงโดยบริษัทแผ่นเสียงตราสุนัข His Master’s Voice ซึ่งทางบริษัทได้จัดพิมพ์กระดาษวงกลมปะกลางแผ่นเสียงเป็นพิเศษด้วย กระดาษขาวอักษรสีทอง มีเพลงแสงเทียน เอื้อ สุนทรสนาน ร้อง, เพลงยามเย็น ชวลี ช่วงวิทย์ ร้อง, เพลงใกล้รุ่ง วินัย จุลบุษปะ ร้อง, และเพลงสายฝน เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ร้อง, นับเป็นแผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์สี่เพลงและสองแผ่นแรกที่ออกเผยแพร่ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
การบันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ในครั้งนี้ บรรเลงโดยวงดนตรีสากลกรมโฆษณาการ ทำการบันทึกเสียงภายในบ้านของคุณพระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจรติกุล) พระสนมเอกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เพราะเดิมที่ห้องอัดเสียงนั้น เคยใช้เป็นที่ทำการของเสรีไทยมาก่อน ภายหลังจึงเปลี่ยนมาใช้เป็นห้องบันทึกเสียงแทน สำหรับเพลงสายฝน ครูบิลลี่ (คีติ คีตากร) ได้ขอพระบรมราชานุญาตแยกเสียงประสานขึ้นใหม่และเปลี่ยนให้เป็นจังหวะสวิง ก็ได้รับความนิยมอีกเช่นกัน เพลงยามเย็น ต้องใช้เสียงสูงมากแต่คุณชวลีก็แสดงความสามารถในการขับร้องได้เป็นที่พอพระราชหฤทัย
แผ่นเสียงนี้ เป็นแผ่นครั่งสปีด ๗๘ ที่มีความงดงามและประณีตสมพระเกียรติยศมากที่สุด เป็นที่น่าสังเกตประการหนึ่งว่าแผ่นเสียงตราสุนัขนั้น เป็นแผ่นเสียงที่มีระบบการบันทึกเสียงที่ไม่สู้จะดีมาก เป็นแผ่นเสียงที่เริ่มเข้ามาบันทึกเสียงตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลที่ ๖ โดยเริ่มบันทึกเสียงเพลงพื้นบ้าน และเพลงไทยเดิม หน้าตรานั้นเป็นสีดำและสีเหลือง ต่อมาได้มีการบันทึกเสียงเพลงไทยสากลขึ้นก็เปลี่ยนเป็นตราสีเขียว และสีแดงเป็นลำดับสุดท้าย ส่วนตราสีขาวนั้นมีเพียงแผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ ๒ แผ่นที่ได้กล่าวมาเท่านั้นเองและมีคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด รองลงมาก็คือสีเขียว สีแดง สีเหลืองและสีดำตามลำดับ (ข้อมูลอ้างอิง 1. หนังสือจดหมายเหตุดนตรี 5 รัชกาล งานวิจัยเอกสารและลำดับเหตุการณ์ พุทธศักราช 2411-2549 2. หนังสือลำนำแห่งสยาม โดย น.พ.พูนพิศ อมาตยกุล)
ขอคุณ ภาพ และข้อมูลจาก oknation