Share Button

แถลงข่าวจัดการแสดง “โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ” ประจำปี ๒๕๖๑ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ๓ พ.ย. – ๕ ธ.ค.นี้

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดแสดง “โขน” ซึ่งนับเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงอันเก่าแก่ของไทย อีกทั้งเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยให้อยู่สืบไป โดยในปี ๒๕๖๑ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ โดยได้เลือกบทโขนรามเกียรติ์ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ขึ้น ระหว่างวันที่ ๓ พฤศจิกายน ถึง วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๑ โดยจัดงานแถลงข่าว พร้อมโชว์ตัวอย่างไฮไลท์การแสดงโขน ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ขึ้น ในวันอังคารที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๑ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย


สำหรับ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กำหนดจัดแสดง ระหว่างวันที่ ๓ พฤศจิกายน – ๕ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา โทร.๐๒-๒๖๒-๓๔๕๖ หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา ๔๒o, ๖๒o, ๘๒o, ๑,๐๒๐, ๑,๕๒๐ และ ๑,๘๒๐ บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา ๒๒o บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Khon Performance โขนพระราชทาน

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” กล่าวถึงรายละเอียดในการจัดแสดงขึ้นว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สืบสานและอนุรักษ์โขน ซึ่งถือเป็นสมบัติและเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาติ ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้จัดการแสดงโขน รามเกียรติ์ ๗ ตอนด้วยกัน ได้แก่ ชุด “ศึกพรหมาศ” ในปี ๒๕๕๐ และ ๒๕๕๒, ชุด “นางลอย” ในปี ๒๕๕๓, ชุด “ศึกมัยราพณ์” ในปี ๒๕๕๔, ชุด “จองถนน” ในปี ๒๕๕๕, ชุด “ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์” ในปี ๒๕๕๖, ชุด“ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” ในปี ๒๕๕๗ และ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ” ในปี ๒๕๕๘ จนประสบความสำเร็จและได้รับกระแสตอบรับให้มีการเพิ่มรอบสำหรับผู้ที่พลาดชมการแสดงในทุกปี และได้ทำการพักการแสดงไปเป็นเวลา ๒ ปี คือปี ๒๕๕๙ และ ๒๕๖๐ ในปีนี้ทางมูลนิธิฯ จึงเลือกแสดง ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ขึ้น อันเป็นการสื่อความหมายของความจงรักภักดี และการรักษาความเที่ยงธรรมสุจริต นำเสนอในการแสดงครั้งนี้”

view More & Full size Photos

เรื่องย่อ การแสดงโขน ชุด พิเภกสวามิภักดิ์
การแสดงโขน ชุด พิเภกสวามิภักดิ์ในการจัดทำบท ผู้จัดทำบทได้นำบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่างๆ อาทิ บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๑, รัชกาลที่ ๒, รัชกาลที่ ๖, และบทโขนของกรมศิลปากรที่เคยจัดแสดงมาประมวลในส่วนที่มีชั้นเชิงในการแสดง และความไพเราะของบทเพลง มาเรียงร้อยปรับปรุงขึ้นใหม่ ดังนี้
องก์ที่ ๑ สุบินนิมิต ตอนที่ ๑ พิเภกถูกขับ
กล่วงถึงทศกัณฐ์สุบินนิมิตว่า มีแร้งขาวบินมาแต่ทิศตะวันออก แร้งดำมาแต่ทิศตะวันตก เมื่อพบกันได้เข้าต่อสู้ แร้งดำแพ้ ร่างตกลงมากลายเป็นพวกยักษ์ และฝันอีกหนึ่งเรื่องว่า ตนเองถือกะลามีสายชนวนพาดอยู่ในมือ และมีหญิงรูปร่างอัปลักษณ์เข้ามาจี้จุดไฟที่สายชนวน จนไฟลุกติดมาไหม้มือ ทศกัณฐ์กลุ้มใจจึงเสด็จออกว่าราชการ และให้พิเภกน้องชายทำนายฝัน พิเภกผู้ถือความซื่อสัตย์สุจริต จึงทำนายว่าเป็นลางร้ายจะเกิดสงคราม ฝ่ายยักษ์จะพ่ายแพ้ ส่วนฝันอีกข้อนั้นเพราะนางสำมะนักขาจะชักโยงให้ศึกครั้งนี้มาล้างอสุรพงศ์พรหม วิธีแก้คือ ให้ทศกัณฐ์ส่งนางสีดามเหสีของพระรามที่พาตัวมา คืนกลับไป ทศกัณฐ์พิโรธเข้าไล่ทำร้าย แต่กุมภกรรณและอินทรชิต ขอพระราชทานโทษ ทศกัณฐ์จึงขับไล่ออกจากลงกาและริบทรัพย์สมบัติ ให้นางตรีชฎาไปเป็นข้านางสีดาที่สวนขวัญ ในการสร้างฉากท้องพระโรงนี้ ผู้ออกแบบฉากได้จินตนาการขึ้นใหม่ ให้มีความวิจิตรงดงามยิ่งขึ้น ในส่วนของการแสดงได้นำการขับร้องเพลงวา ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ คุณหญิงไพฑูรย์ กิติวรรณ นำมาใช้แทนเพลงร้องช้าปี่ของเดิม
ตอนที่ ๒ พิเภกลาชายาและธิดา
ในตอนนี้ได้นำบทพระราชนิพนธ์ ตอนพิเภษณ์ถูกขับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักในการทำบทผสมผสานกับ บทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ของรัชกาลที่ ๒ ดำเนินเรื่องตั้งแต่พิเภกกลับไปยังตำหนัก ลานางตรีชฎาและนางเบญจกาย (บทรัชกาลที่ ๖ นางเบญจกายมีชื่อว่า นันทา) สุดท้ายพิเภกก็ถอดมงกุฏเครื่องยศ ให้ตรีชฎาไปคืนทศกัณฐ์ ซึ่งในตอนนี้มิได้นำมาแสดงบ่อยครั้งนัก เพราะตัวพิเภกจะต้องถอดมงกุฏกลางเวที หัวพิโขนเภกนี้สูญสลายไปหมดแล้ว จึงต้องคิดจัดทำขึ้นใหม่ โดยอาศัยข้อมูลจากบันทึกเรื่องราวในสาสน์สมเด็จ ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวิดติวงศ์ เคยทอดพระเนตร
ตอนที่ ๓ เนรเทศ
ผู้จัดทำบทได้นำบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ของรัชกาลที่ ๒ มาเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากบทรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๖ ที่ทำให้พิเภกเหาะข้ามไปจากกรุงลงกา บทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ให้มโหธร เชิญเสด็จพิเภกลงสำเภาออกไปจากกรุงลงกา เมื่อถึงร่องน้ำฝั่งแผ่นดินที่พระรามพักพลอยู่ จึงใช้เรือสำปั้นโล้ไปปล่อยขึ้นฝั่ง ในการแสดงครั้งนี้นับว่าเป็นฉากสำคัญที่งดงามที่สอดประสานกับการขับร้องที่แสดงความโศกสลด ความเที่ยงตรงในสัจจะสุจริต อันเป็นคุณธรรมของพิเภก
— พักครึ่งเวลา —
องก์ที่ ๒ หอกกบิลพัท ตอนที่ ๑ พบนิลเอก
นิลเอก เป็นหนึ่งในทหารเอกของพระรามมีหน้าที่เป็นกองตระเวน พาพลวานรมาปฏิบัติหน้าที่ จนได้พบกับพิเภก พิเภกยอมให้นิลเอกจับตัวได้ และได้พาไปเข้าเฝ้าพระราม
ตอนที่ ๒ สวามิภักดิ์
นิลเอกพาพิเภกเข้ามาเฝ้า พระรามซักถามถึงสาเหตุในการมาจากลงกา พิเภกก็ทูลสนองตามความจริง มิได้ทูลถึงความดีของตนและให้พระรามนั้นพิสูจน์ดูความจงรักภักดีของตนต่อไปในอนาคต และเปรียบเทียบตนเองว่า “ชนธรรมดาย่อมเห็นว่าสูญสิ้นมูลค่า ต่อเมธีมีปัญญาจึงเห็นว่าค่าทองคง” ซึ่งทำให้พระรามพอพระทัย จึงให้สุครีพนำพระแสงศรไปประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาให้พิเภกดื่มสาบาน แล้วท้ายสุดได้พระราชทานแต่งตั้งให้พิเภกเป็นราชา พร้อมทั้งสวมมงกุฏพระราชทาน
การแสดงในช่วงนี้ เป็นการตัดทอนเนื้อเรื่องให้มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับพิเภกโดยดำเนินตาม หลังจากทศกัณฐ์ทูลเชิญท้าวมาลีวราช ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระอัยกามาตัดสินความ แต่ด้วยเหตุผลและความจริงปรากฏว่า ทศกัณฐ์เป็นฝ่ายผิด ท้าวมาลีวราชสั่งให้ทศกัณฐ์คืนนางสีดา แต่ทศกัณฐ์ลุอำนาจและพาลผิดไม่ยอมคืน ทั้งไปประกอบพิธีเผารูปเทวดาที่หาดทรายกรด ให้เหล่าเทวดาที่มาเป็นพยานนี้สิ้นชีพ สุดท้ายพระอิศวรให้เทพบุตรพาลีแปลงกายมาทำลายพิธีได้
ตอนที่ ๓ มณโฑทูลตัดศึก
เมื่อทศกัณฐ์เสียพิธีมิอาจเผารูปเทวดาที่หาดทรายกรดได้ เพราะเทพบุตรพาลีมาทำลายพิธี จึงกลับเข้าปราสาทชัย นางมณโฑมเหสียุยงว่า การเสียพิธีครั้งนี้น่าจะเกิดจากพิเภกเป็นไส้ศึกบอกความลับ เพื่อให้สิ้นเสี้ยนศึกควรฆ่าพิเภกเสีย ทศกัณฐ์เห็นจริงตามคำทูล จึงสั่งมโหธรให้เร่งจัดทัพ ทศกัณฐ์เองจะออกไปทำศึก ได้ท่วงทีจึงพุ่งหอกกบิลพัทฆ่าพิเภกเสีย
ตอนที่ ๔ สนามรบ + แก้หอกกบิลพัท
กองทัพของทั้งสองฝ่ายยกมายังสนามรบ ก่อนยกทัพมาพิเภกทูลพระรามว่า ศึกครั้งนี้ทศกัณฐ์ต้องการที่จะฆ่าตน พระรามจึงสั่งพระลักษมณ์ให้คอยป้องกัน
ทศกัณฐ์ทำอุบายให้พิเภกออกมาหาตน โดยเสกสรรค์ปั้นความถึงสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่มิอาจตัดขาดจากกัน ในครั้งนี้จะได้เพิ่ม “ทางเล่น” ของบทตลกฝ่ายยักษ์ให้คอยห้ามพิเภก แต่ในที่สุดเมื่อทศกัณฐ์ได้ท่วงทีก็พุ่งหอกกบิลพัทหมายให้ถูกพิเภก แต่พระลักษมณ์ถลันออกมาป้องกัน จึงถูกหอกล้มสลบลง ฝ่ายทัพทศกัณฐ์ได้ชัยชนะจึงยกกลับเข้าเมือง พิเภกทูลพระรามถึงวิธีแก้ไข โดยให้ไปนำสรรพยา “สังกรณีตรีชวา มูลโคอศุภราช แม่หินบดยาจากท้าวกาลนาด และที่สำคัญคือ ลูกหินบดยาที่ทศกัณฐ์ทำเป็นเขนยหนุนนอนอยู่” หนุมานรับอาสาไปนำสรรพยาสิ่งต่างๆ มาแก้ไข หนุมานนำสรรพยาแม่หินบดและลูกหินมาถวายพระรามได้ทันเวลา พระรามกล่าวชมหนุมาน ซึ่งในบทโขนไม่ปรากฏบ่อยครั้งนัก และมอบสรรพสิ่งต่างๆ ให้พิเภกประกอบพิธีบดและผสมยาแก้พิษหอกกบิลพัทได้สำเร็จ พระราม พระลักษมณ์พญาวานรพร้อมกองทัพจึงกลับคืนไปยังพลับพลาที่เขาคันธกาลา ด้วยความสวัสดี
— จบการแสดง —

สำหรับการแสดงครั้งนี้ ได้จัดให้มีการคัดเลือกนักแสดงตัวเอกรุ่นใหม่เมื่อปี ๒๕๕๙ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงอันยิ่งใหญ่ โดยคัดเลือกจากนักเรียน นักศึกษา ทั้งจากวิทยาลัยนาฏศิลป และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ที่พร้อมใจกันมาร่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทย ซึ่งจัดให้มีคัดเลือกนักแสดง จำนวน ๕ ตัวละคร คือ โขนพระ มีผู้สมัคร ๗๓ คน ละครพระ มีผู้สมัคร ๑๙๘ คน ละครนาง มีผู้สมัคร ๒๐๔ คน โขนยักษ์ มีผู้สมัคร ๑๓๗ คน และ โขนลิง มีผู้สมัคร ๑๖๐คน รวมทั้งสิ้นมีผู้สมัคร จำนวน ๗๗๒ คน ซึ่งแต่ละประเภทตัวละครจะมีเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกเพียง ๕ คน รวมจำนวน ๒๕ คน และสำหรับปีนี้ มีตัวละครโขนยักษ์ได้คะแนนเท่ากันในลำดับที่ ๕ จึงมีผู้ที่ได้รับคัดเลือกและรับทุนการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น ๒๖ คน จากผู้สมัครทั้งหมด จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนคนไทย รีบจองบัตรเพราะจัดแสดงเป็นระยะเวลา ๑ เดือน ไม่อยากให้พลาดชมความครั้งยิ่งใหญ่ของการแสดงโขนครั้งนี้”

Facebook Comments
Share Button